วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2555

บทบาทผู้บริหารสถานศึกษาในการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน


บทบาทผู้บริหารสถานศึกษาในการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน
 

..... ชมขวัญ  ขุนวิเศษ .....


            การปฏิรูปการศึกษาในปัจจุบัน    มีจุดมุ่งหวังที่สำคัญในการสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้   (Learning society)   เพื่อที่จะเป็นสังคมฐานความรู้    สามารถแข่งขันกับนานาอารยประเทศได้อย่างมีเกียรติภูมิ   ซึ่งการที่จะเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และสังคมฐานความรู้ได้  อยู่ที่คนไทยในสังคมโดยส่วนรวมจะต้องมีนิสัยรักการอ่านเป็นสำคัญ   ทั้งนี้เพราะการอ่าน  เปรียบเสมือนประตูแห่งปัญญาที่จะทำให้มนุษย์ได้รับรู้และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆได้ดี  เนื่องจากโลกปัจจุบันดูเหมือนจะแคบและเล็กลง   เพราะความเจริญทางด้านวัตถุ  เทคโนโลยี  วิทยาการ        ความนึกคิด  ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว   จึงจำเป็นต้องอาศัยการอ่านเพื่อติดตามเหตุการณ์ทั้งหลายให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง

            นอกจากนี้ การอ่านยังเป็นสิ่งจำเป็นและให้ประโยชน์แก่มนุษย์ ในด้านการประกอบอาชีพ  การพักผ่อนหย่อนใจและช่วยส่งเสริมความรู้ความคิดของคนเราให้เพิ่มพูนขึ้น( กรมวิชาการ. ๒๕๔๒ : ๖ )  ฟรานซิส  เบคอน (Francis
Bacon) ได้กล่าวว่า  การอ่านทำให้เป็นคนโดยสมบูรณ์ (Reading make a Full man)  เพราะฉะนั้นผู้ที่อ่านหนังสือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมได้เปรียบและมีชีวิตที่ก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว  (ฉวีลักษณ์  บุณยะกาญจน. ๒๕๔๗ : ๒๒)

            องค์การสหประชาชาติ ตระหนักในความสำคัญของการอ่าน  จึงได้
เสนอให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศช่วยกันรณรงค์ให้ทุกคนในโลกนี้  อ่านหนังสือให้ออกทั้งหมดในปี พ.ศ.๒๕๔๓  (ไพพรรณ  อินทนิล. ๒๕๔๖ :๗)   ซึ่งการอ่านหนังสือออกอันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างกว้างขวางให้สามารถปรับตัวอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข (กรมการศึกษานอกโรงเรียน. ๒๕๔๔ : ๑) และการอ่านจนติดเป็นนิสัยมิใช่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองได้ตามธรรมชาติ  แต่จะเกิดจากการเรียนรู้  การอบรมสั่งสอน และต้องอาศัยทักษะในการฝึกอย่างเป็นขั้นตอน จริงจังและมีความต่อเนื่อง  

       ด้วยเหตุนี้  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.  ๒๕๔๒  และที่แก้ไขเพิ่มเติม          ( ฉบับที่ ๒ )  พ.ศ.  ๒๕๔๕   จึงได้กำหนดแนวการจัดการศึกษาไว้ในหมวด    มาตรา ๒๔  (๓) ความว่า   จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง  ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้  คิดเป็น     ทำเป็น  รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง   และหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  ๒๕๔๔   กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ได้กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ ไว้ในสาระที่ ๑ การอ่าน มาตรฐาน ท ๑.๑  ความว่า ใช้กระบวนการอ่านสร้างความรู้และความคิด  ไปใช้ตัดสินใจ         แก้ปัญหาและสร้างวิสัยทัศน์ในการดำเนินชีวิตและมีนิสัยรักการอ่าน   อีกทั้งมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ได้กำหนดมาตรฐานด้านคุณภาพผู้เรียน ไว้ในมาตรฐานที่ ๖  ตัวบ่งชี้ที่  ๖.๑  ความว่า   มีนิสัยรักการอ่าน การเขียนและการฟัง รู้จักตั้งคำถามเพื่อหาเหตุผล

            จากแนวการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ   พ.ศ.  ๒๕๔๒   และที่แก้ไขเพิ่มเติม  ( ฉบับที่ ๒ )  พ.ศ. ๒๕๔๕    มาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  ๒๕๔๔  และมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านคุณภาพผู้เรียน  ดังกล่าวข้างต้น  โรงเรียนจึงควรจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน  เพื่อปลูกฝังและส่งเสริมให้นักเรียนมีนิสัยรักการอ่าน   กระตุ้นและสนับสนุนให้นักเรียนสนใจในการอ่าน   เห็นความสำคัญและประโยชน์ของการอ่าน    โดยผู้บริหารสถานศึกษาควรมีบทบาทสำคัญดังนี้

๑.    กำหนดเป็นนโยบายหลักของสถานศึกษาที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่  โดยความร่วมมือกันอย่างจริงจังระหว่าง บ้าน โรงเรียน  และชุมชน   ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่สุดในการช่วยส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นแก่นักเรียน

๒.    ดำเนินการทุกวิถีทาง  ในการจัดหางบประมาณ  เพื่อนำมาสนับสนุนการดำเนินงานอย่างเพียงพอ  โดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ  ทั้งภาครัฐและเอกชน  เช่น  ขอบริจาคสิ่งพิมพ์  วัสดุอุปกรณ์  งบประมาณ  และเทคโนโลยีที่ทันสมัย  มาใช้ในการปฏิบัติงาน  เนื่องจากงบประมาณ  เป็นปัจจัยทางการบริหารที่สำคัญประการหนึ่งในการดำเนินงานโครงการให้ประสบความสำเร็จ 

            ๓.    ติดตาม  ประชุม  ดูแลประสานงานและประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอเป็นระยะ ๆ  เพื่อรับทราบ  รับฟังปัญหาและข้อคิดเห็นต่าง ๆ   จากการดำเนินงานว่าเป็นไปตามที่กำหนดไว้หรือไม่อย่างไร ซึ่งจะได้ป้องกัน ปรับปรุง แก้ไขได้ทัน  อันจะทำให้การดำเนินงาน ประสบความสำเร็จมากขึ้น

             ๔.  ให้การสนับสนุนและส่งเสริมบุคลากรที่ดำเนินงาน  ให้มีการวิเคราะห์กิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โดยกำหนดแนวดำเนินการและเทคนิคต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมที่สามารถปฏิบัติได้เหมาะสมกับวัย  ดึงดูดความสนใจและได้ผลอย่างจริงจังในเรื่องการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน  

                  จะเห็นได้ว่า  การอ่านเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญยิ่งที่จะทำให้เกิดการพัฒนาทางด้านสติปัญญา ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์  พฤติกรมและการดำเนินชีวิต  อันจะส่งผลไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมสังคมโลกยุคปัจจุบัน   โดยบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างนิสัยรักการอ่าน ได้แก่  พ่อแม่  ผู้ปกครอง  ครูผู้สอน  ครูบรรณารักษ์  และผู้บริหารสถานศึกษา

แหล่งอ้างอิง :

วิชาการ, กรม.  (๒๕๔๒). รายงานการวิจัยเรื่อง  การศึกษาสภาพการเรียนรู้จาก
                     หนังสือของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  ๖.  กรุงเทพ ฯ . 
ฉวีลักษณ์     บุณยะกาญจน.  (๒๕๔๗).  จิตวิทยาการอ่าน . กรุงเทพ ฯ  : 
                     ธารอักษร . 
ไพพรรณ     อินทนิล. (๒๕๔๖). การส่งเสริมการอ่าน.  ชลบุรี  : 
                    ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์  คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ 
                    มหาวิทยาลัยบูรพา .

6 ความคิดเห็น:

  1. เยี่ยมมาก

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณค่ะ ติดตามอ่านบทความของโรงเรียนไปตลอดนะค่ะ

    ตอบลบ
  3. บุษกร แย้มรัตน์ และกฤษณา สาทเวช27 กันยายน 2555 เวลา 12:36

    หนูภูมิใจในโรงเรียนของหนูมาก

    ตอบลบ
  4. อ่านแล้วคะ

    ตอบลบ
  5. เห็นด้วยค่ะ

    ตอบลบ

ข่าวการศึกษา